เกษตรจังหวัดภูเก็ต ดันผักลิ้นห่าน ขึ้นห้าง พร้อมจัดงาน สุดยอดผักพื้นบ้าน@ภูเก็ต ส่งเสริมให้ปลูกในกระถาง
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวภูเก็ต – เกษตรจังหวัดภูเก็ต ดันผักลิ้นห่าน ขึ้นห้าง จัดงานผักลิ้นห่าน สุดยอดผักพื้นบ้าน@ภูเก็ต “Pak Lin Harn The best native vegetables @Phuket” ส่งเสริมปลูกในกระถาง ความต้องการสุดปัง ขายได้ราคาดี
วันนี้ (31 มี.ค. ) ณ ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด งานผักลิ้นห่าน สุดยอดผักพื้นบ้าน@ภูเก็ต “Pak Lin Harn The best native vegetables @Phuket” โดยมี นางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ภาครัฐเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและประชาชนเข้าร่วม
นางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผักลิ้นห่าน เป็นผักพื้นบ้านของจังหวัดภูเก็ต และเป็นผักที่หากินได้ยาก ขึ้นอยู่ตามชายหาด ซึ่งในส่วนของจังหวัดพบว่ามีการปลูกที่ บริเวณหาดไม้ขาว อ. ถลาง โดยกลุ่มของชาวบ้าน สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมากในแต่ละปี โดยผักลิ้นห่านสามารถเก็บขายได้ราคาสูง กิโลกรัมละ 200 บาท และ เก็บขายได้ตลอดทั้งปี
ปัจจุบันความต้องการผักลิ้นห่านมีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของร้านอาหารต่างในกูเก็ตและต่างจังหวัด การสั่งซื้อจึงต้องสั่งล่วงหน้า ถึงจะได้ ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต จึงเข้าไปส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกผักลิ้นห่านกระจายไปในพื้นที่ 3 อำเภอ และส่งเสริมให้มีการปลูกผักลิ้นห่านในกระถาง เพื่อใช้สำหรับนำมาประกอบอาหารทานในครอบครัว และส่งขาย
และในวันนี้ ทางสำนักงานเกษตรได้จัดให้มีกิจกรรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การผลิตและการบริโภคผักลิ้นห่าน ภายใต้ชื่องานผักลิ้นห่าน สุดยอดผักพื้นบ้าน@ภูเก็ต “Pak Lin Harn The best native vegetables @Phuket” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริในการสืบสานพระราชปณิธาน เพื่อให้ประชาชน และเยาวชนได้เรียนรู้ อนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน
ซึ่งผักลิ้นห่าน เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหาร สามารถเพาะปลูกได้ทั้งในสภาพแปลงฟาร์มและในภาชนะที่สอดคล้องกับสังคมเมือง ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งเป็นอาหารเมนูเอกลักษณ์ประจำร้านอาหารในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพืชสร้างรายได้ ให้เกษตรกรและสนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
งานผักลิ้นห่าน สุดยอดผักพื้นบ้าน @ภูเก็ต “Pak Lin Harn The best native Vegetables @Phuket” จึงเป็นการสนองพระราชดำริ ในการนำพืชท้องถิ่นออกสู่สาธารณชน โดยมีกิจกรรม 5 กิจกรรม ประกอบด้วย การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ(แมคโคร ภูเก็ต) และกลุ่มผักลิ้นห่าน ที่จะมีการตกลงในเรื่องของการส่งผักลิ้นห่านขึ้นมาขายในห้าง การจำหน่ายผักลิ้นห่าน ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ในจังหวัดภูเก็ต การสาธิตการปลูกและการขยายพันธุ์ผักลิ้นห่าน การประกวดผักลิ้นห่านในภาชนะที่สอดคล้องกับเกษตรสังคมเมือง และ การสาธิตแปรรูปผักลิ้นห่าน”
ขณะที่ นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ผักลิ้นห่าน นอกจากเป็นพืชวัฒนธรรมใช้ในการประกอบอาหารของครัวเรือน ในปัจจุบันยังสามารถต่อยอดแปรรูปเป็นอาหารว่างและเครื่องดื่ม เป็นเมนูแนะนำประจำร้านอาหาร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งเป็นสินค้าที่ปลูกได้ตลอดปี ทั้งในสภาพที่เป็นแปลงฟาร์มและในภาชนะที่สอดคล้องกับสังคมเมือง
การจัดงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การผลิตและการบริโภคผักลิ้นห่าน ดำเนินการภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้การปลูก การขยายพันธุ์ผักลิ้นห่าน ผักพื้นบ้านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์ การพัฒนา การใช้ประโยชน์
ดังนั้น การจัดงานประชาสัมพันธ์จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิต ได้พบกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการโดยตรง จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร เยาวชนและประชาชน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตามภายในงานได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดการปลูกผักลิ้นห่านโดยมีผู้ได้รับรางวัลดังนี้ รางวัลชนะเลิศรับเงินสด 1,000 บาทพร้อม เกียรติบัตร ได้แก่ นางสุพิศ เดชากุล เกษตรกรอำเภอถลาง,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัล 700 บาทพร้อมเกียรติบัตรได้แก่ นายธเนศ เดชากุล เกษตรกรอำเภอถลาง, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2