10 มีนาคม 2564
| โดย วลัญช์ สุภากร / ภาพ : กสศ.
174
กสศ. นำทุนพัฒนาอาชีพฯ ต่อยอด “ส้มควายกมลา” ทุนธรรมชาติและทุนวัฒนธรรมด้านอื่นๆ สร้างการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนของชาว “ภูเก็ต” ก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 เป็นผลสำเร็จ
ภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ซบเซาลงไปอย่างมาก ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง ปิดตัวลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
แต่ภายใต้ความเงียบเหงาลงของเมือง, 6 หมู่บ้าน ในตำบลกมลา อำเภอกระทู้ กลับกำลังดำเนินงานสามารถพัฒนาตัวเอง สร้างการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนได้เองผ่าน โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และจากการสนับสนุนของ ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
พืชพื้นบ้าน การต่อยอดทุนธรรมชาติในท้องถิ่น
นาง ลัดดา คาวิจิตร ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบ้างซบเซาลง รายได้ที่เคยมีมากมายกลายเป็นศูนย์ กระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ลัดดาจึงเข้าร่วมโครงการฯ พัฒนาทักษะอาชีพจากทุนเดิมของชุมชนเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป
“เมื่อก่อนชาวบ้านนที่นี่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจด้านการบริการ ทั้งร้านอาหาร และโรงแรมที่เคยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้จังหวัดภูเก็ตต้อพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงทางเดียว แต่เมื่อเกิดวิกฤติซึ่งเป็นช่วงที่โครงการของ กสศ. เข้ามาในพื้นที่พอดี ทำให้พวกเราหันมาเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองบนฐานทุนทรัพยากรที่เรามี ทำให้เราได้เรียนรู้ทักษาอาชีพที่เราเคยทิ้งไปอย่างการปลูกพืชผักผลไม้ ผลผลิตที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน แต่ยังต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพใหม่”
ลัดดา คาวิจิตร ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ ตำบลกมลา
ขณะที่ ดร.อภิรมย์ พหรมจรรยา ผู้รับผิดชอบโครงการและอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต คณะการบริหารและการท่องเที่ยว เล่าว่า ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019 ชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านในตำบลกมลา ประกอบไปด้วย บ้านบางหวาน บ้านเหนือ บ้านโคกยาง บ้านกมลา บ้านหัวควน และ บ้านนาคา ได้เรียนรู้และปรับตัวทั้งด้านอาชีพและวิถีชีวิต
โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือภายในจังหวัดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกันในเวลาต่อมา ก่อนจะนำไปสู่การสร้างอาชีพ จากผลิตภัณฑ์ของแต่ละหมู่บ้าน โดยเชื่อมโยงทุนธรรมชาติและทุนวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน เช่น ‘ส้มควายกมลา’ ผลส้มขึ้นชื่อในพื้นที่ที่นำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด
ลักษณะผลส้มควายกมลา จ.ภูเก็ต
‘ส้มควาย’ เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พืชท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ตระกูลเดียวกับ ‘ส้มแขก’ ผลส้มควายมีรสเปรี้ยว ชาวบ้านในภูเก็ตนิยมปลูกส้มควายเป็นไม้ผลประจำบ้าน
ผลส้มควายภูเก็ต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือผลใหญ่ เนื้อมาก ชาวบ้านนิยมนำส้มควายมาปรุงอาหารสารพัดเมนู ทั้งแกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา
ส้มควายตากแห้ง
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยโบราณ นิยมนำ ‘ส้มควาย’ มาตากแห้ง และบดเป็นผงก่อนนำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ลดอาการปวดเมื่อย อาการเท้าบวม และช่วยระงับกลิ่นเท้าได้เป็นอย่างดี
การแปรรูป “ส้มควาย” เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำเครื่องดื่ม
ปัจจุบัน ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า ‘ส้มควาย’ เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยในการระบาย และมีกรดผลไม้ ประเภทสาร AHA ช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส คุณประโยชน์ที่ดีของส้มควาย ทำให้พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง เพราะส้มควายเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย
พัฒนาผ้าท้องถิ่น การต่อยอดทุนวัฒนธรรมและเพิ่มบริการจัดส่ง
การต่อยอดผ้าพื้นเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่า
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนายังรวมไปถึง ผ้าเพ้นท์ลายสโนติส ผ้าปาเต๊ะเพ้นท์กากเพชร และปาเต๊ะเพ้นท์ลาย ที่วางขายภายในชุมชน
นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินงานผ่านการขายออนไลน์ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันชุมชนนอกจากจะยังมีความมั่นคงทางอาหารแล้วยังสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์วิกฤติได้อีกด้วย
ดร.อภิรมย์ พหรมจรรยา ผู้รับผิดชอบโครงการและอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
“ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือชาวบ้าน มี ‘ตลาดนัดชุมชน’ เป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านกมลากับหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การเชื่อมโยงแต่ละหมู่บ้านยังรวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ จนเกิดเป็นการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ไม่เพียงแต่ผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ภายในโครงการฯ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อย่างการเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ จากเดิมขายผืนละ 100 – 200 บาท กลายเป็นผืนละ 1,500 – 2,000 บาท ส่วนเศษผ้าที่เหลือยังสามารถนำมาเย็บเป็นของที่ระลึกสร้างรายเพิ่มขึ้นอีกทาง” ดร.อภิรมย์ กล่าว
กสศ.ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและความมั่นคงให้กับชุมชน
ท่ามกลางความยากลำบากจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว 3 ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ สำหรับการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนคือ
- การรวมกลุ่ม : ระหว่างคนแต่ละชุมชนและคนทุกช่วงวัย
- การใช้เทคโนโลยี : เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ขยายตลาดให้กว้างขึ้น
- การใช้ฐานชุมชน : เป็นจุดแข็งในการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น จนเกิดการสร้างวงจรการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
* * * * *
ข้อมูล : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
เรียบเรียง : วลัญช์ สุภากร