เผยแพร่:
ปรับปรุง:
“ปัญญาพลวัตร”
“พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”
รัฐประหารเป็นใช้กำลังอาวุธเพื่อเปลี่ยนแปลงคณะผู้ปกครองประเทศ เป็นวิธีการที่บรรดาเหล่านายพลทั้งหลายผู้ถือครองอาวุธของประเทศกำลังพัฒนานิยมใช้กันมากในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ และค่อย ๆ ลดลงในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด แต่ก็ยังมีนายพลของหลายประเทศที่ไม่ยอมเลิกใช้วิธีการนี้ในการแสวงหาอำนาจอย่างเช่น นายพลของประเทศไทยและพม่า
เพียงช่วง ๒๐ ปี แรกของศตวรรษที่ ๒๑ นายพลของไทยได้ก่อการรัฐประหารไปแล้วสองครั้งเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๗ และ ๒๐๑๕ ด้านนายพลของประเทศพม่าก็ทำรัฐประหารในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๐๒๑
คำถามคือ ทำไมบรรดานายพลของประเทศกำลังพัฒนานิยมทำรัฐประหาร และการรัฐประหารมีนัยอย่างไร
ในกรณีการรัฐประหารในประเทศพม่า คณะรัฐประหารให้เหตุผลว่า มีการทุจริตเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง และ กกต.พม่าทำหน้าที่แบบเอนเอียงและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ จึงต้องเข้ามาจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ เหตุผลนี้มีที่มาจากชัยชนะที่ท่วมท้นของพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจี และความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนาหรือยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของทหาร
เมื่อพรรคของตนเองพ่ายแพ้อย่างหมดท่า บรรดานายพลต่างก็เกิดความตระหนกตื่นกลัวว่า ตนเองจะสูญเสียอำนาจในการครอบงำสังคมพม่า ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้พวกเขาจึงใช้ข้อได้เปรียบในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองกำลังอาวุธ ดำเนินการจับกุมตัวนางอองซานซูจีและแกนนำของพรรคเอ็นแอลดี พร้อมกับประกาศภาวะฉุกเฉินและเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศใหม่ให้คนของตนเองเข้าครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
ความปรารถนาร่วมของบรรดานายพลในประเทศพม่า ไม่แตกต่างจากนายพลของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มากนัก นั่นคือ ต้องการดำรงรักษาและสืบทอดอำนาจในการครอบงำประเทศให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รูปแบบการปกครองที่พวกเขาชมชอบด้วยต้องจริตอุปนิสัยก็คือ ระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นการควบคุมสังคมตามแบบแผนที่พวกเขาออกแบบ ประกอบด้วย การเน้นความมั่นคงของกลุ่มตนเองในนามความมั่นคงของชาติ การมุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองในนามผลผลประโยชน์ของชาติ การสร้างความมั่งคั่งแก่ตนเองในนามความมั่งคั่งของประเทศ การปกป้องรักษาบรรดาอภิสิทธิ์ทางสังคมของกลุ่มตนเองในนามของรางวัลแห่งการเสียสละเพื่อชาติ และการคงอยู่ในตำแหน่งและสถานะอันสูงส่งในนามแห่งการบำรุงความรุ่งเรืองของจารีตทางวัฒนธรรม
การอ้างเหตุผลของการรัฐประหารของนายพลพม่าอาจมีความแตกต่างในรายละเอียดบ้างจากนายพลไทย สำหรับเหตุผลหลักที่บรรดานายพลประเทศไทยอ้างในการทำรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เหตุผลนี้มาจากเงื่อนไขความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมืองระหว่างประชาชนกับผู้บริหารประเทศ ซึ่งสร้างความตึงเครียดแก่ประชาชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง
สำหรับการรัฐประหารในปี ๒๐๑๔ นายพลไทยที่เป็นแกนนำของคณะรัฐประหารได้ประกาศว่า เมื่อพวกตนขึ้นมาครองอำนาจแล้วจะสร้างความสงบสุขแก่สังคม และสัญญาว่าจะคืนความสุขแก่ประชาชนในเวลาไม่นาน และมีคนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อคำสัญญาที่ว่างเปล่าของพวกเขา
แต่ไม่ช้าเหตุผลที่แท้จริงอันเป็นแรงขับภายในจิตใจของบรรดานายพลที่ก่อการรัฐประหารก็ปรากฎออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ภาพที่เห็นอย่างประจักษ์ชัดแก่ผู้คนทั้งปวงก็คือ การยกขบวนเข้าครอบครองตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานของรัฐแทบทุกองค์การของบรรดาสมัครพรรคพวกของนายพลเหล่านั้น พวกเขาสนุกสนานกับการใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อสร้างความมั่งคั่งและใช้ชีวิตเสพสุขอย่างเพลิดเพลินกับการใช้อภิสิทธิ์
พวกเขาสร้างภาพลักษณ์ในฐานะผู้กอบกู้สังคมเพื่อหลอกลวงประชาชน เสแสร้งดำเนินการบางอย่างที่ดูภายนอกแล้วเหมือนตั้งใจมุ่งมั่นรักษาสัญญาเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริง ดังเช่นการใช้วาทกรรมปฏิรูปประเทศ การตั้งคณะกรรมการแบบหุ่นฟางขึ้นมาเพื่อทำงานตามที่สังคมเรียกร้อง การสร้างศัตรูของชาติแบบจอมปลอมเพื่อขู่ให้ประชาชนหวาดกลัวและต้องพึ่งพาพวกเขาในการจัดการศัตรูเหล่านั้น
กล่าวได้ว่า ณ ก้นบึ้งแห่งจิตใจของบรรดานายพลที่ก่อการรัฐประหารนั้นคือความหวาดกลัวในการสูญเสียอำนาจ ผลประโยชน์ การถูกลดคุณค่าและบทบาทในสังคม อันเป็นผลมามาจากระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง
มีนายพลบางส่วนพยายามใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยโดยจัดตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้ง แต่มักประสบความล้มเหลว พรรคการเมืองนายพลชนะการเลือกตั้งเพียงน้อยนิดและมิได้เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด หรืออย่างมากก็เป็นได้เพียงสมัยเดียวในช่วงที่อำนาจยังมีความเข้มข้น พรรคของนายพลไทยก็เป็นเช่นนี้และพรรคของนายพลพม่าก็ประสบชะตากรรมไม่แตกต่างกัน
ดังนั้นหากมีการร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร บรรดานายพลจึงมักใช้อำนาจเพื่อสร้างอภิสิทธิ์ทางการเมืองแก่กลุ่มตนเองขึ้นมาโดยเขียนข้อความที่วิปริตผิดหลักการประชาธิปไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พวกของตนเองสืบทอดอำนาจได้ต่อไป ดังเรื่องอำนาจของวุฒิสมาชิกในรัฐธรรมนูญไทย และเรื่องสัดส่วนของนายพลในสภานิติบัญญัติของรัฐธรรมนูญพม่า
เราอาจใช้เกณฑ์เรื่อง “วิธีการเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ” เพื่อจำแนกอารยธรรมทางการเมือง ซึ่งสามารถจำแนกได้สี่ระดับ คือ ประเทศที่มีอารยธรรมทางการเมืองสูง ประเทศที่มีอารยธรรมทางการเมืองปานกลาง ประเทศที่มีอารยธรรมทางการเมืองต่ำ และประเทศที่ไร้อารยธรรมทางการเมือง
ประเทศที่มีอารยธรรมทางการเมืองสูงนั้น อำนาจในการบริหารประเทศมาจากฉันทามติร่วมของประชาชนในประเทศนั้นโดยใช้การเลือกตั้งเสรีที่สุจริตและเที่ยงธรรม ประเทศที่มีอารยธรรมปานกลาง อำนาจมาจากฉันทามติโดยใช้การเลือกตั้งเสรีแต่อาจมีการทุจริตเลือกตั้งบ้าง ประเทศที่มีอารยธรรมทางการเมืองต่ำคือประเทศที่ผู้มีอำนาจรัฐใช้การเลือกตั้งแบบควบคุมและสามารถกำหนดผลเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ และประเทศที่ไร้อารยธรรมทางการเมืองคือประเทศที่ผู้ปกครองได้อำนาจมาจากการรัฐประหารซึ่งเป็นวิธีการที่ทำลายหลักนิติธรรมอย่างป่าเถื่อนและล้าหลังนั่นเอง
นัยของการรัฐประหารไม่ว่าเกิดขึ้นในประเทศใด แสดงว่าประเทศนั้นปราศจากอารยธรรมทางการเมือง กล่าวคือ การเมืองยังคงเป็น “การเมืองแห่งการใช้กำลังอาวุธและการข่มขืนใจ” ซึ่งผู้มีกำลังและอาวุธมากกว่าจะบังคับขืนใจผู้มีกำลังทางกายภาพน้อยกว่า เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองปรารถนา ซึ่งเป็นการเมืองที่ตรงข้ามกับ “การเมืองแบบใช้เหตุผลและความสมัครใจ” อันเป็นการเมืองที่มีความเจริญแล้วซึ่งลงหลักปักฐานในระบบการเมืองของโลกนี้ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ และกลายเป็นการเมืองกระแสหลักที่บรรดาประเทศเกือบทั้งหมดในโลกใบนี้ใช้กันในศตวรรษที่ ๒๑ จะยกเว้นก็แต่ในประเทศไทย พม่า และประเทศที่ล้าหลังมาก ๆ บางประเทศเท่านั้น
ยิ่งนายพลของสังคมใดมีจิตสำนึกที่ล้าหลังมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้โอกาสการรัฐประหารเกิดขึ้นมากเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาเราจะเห็นว่า บรรดานายพลเกือบทั้งหมดมีจิตสำนึกที่ก้าวหน้าและมีอารยธรรมสูง พวกเขาจึงออกปกปักรักษารัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมอย่างเข้มข้น แต่ประเทศไทยและพม่านายพลจำนวนมากยังมีจิตสำนึกล้าหลังและไร้อารยธรรม พวกเขาจึงยังนิยมชมชอบการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรงทำลายหลักนิติธรรมเพื่อให้ตนเองขึ้นมามีอำนาจนั่นเอง
กล่าวได้ว่าเหตุผลของการรัฐประหารคือความหวาดกลัวในการสูญเสียอำนาจ บทบาททางสังคม อภิสิทธิ์ และความมั่งคั่งของบรรดานายพลที่เข้าร่วมก่อการ และการรัฐประหารมีนัยที่บ่งบอกถึงความไร้อารยธรรมทางการเมืองของประเทศ ซึ่งเป็นการเมืองแบบใช้กำลังและข่มขืนใจประชาชนนั่นเอง