ภูเก็ต นำร่องฉีดวัคซีนเข็ม 3 แบบใต้ผิวหนัง ใช้ปริมาณเพียง 20% พบภูมิสูงกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ระคายเคืองและบวมแดงมากกว่า
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 ที่โรงยิมเนเซี่ยม 4000 ที่นั่ง ศูนย์กีฬาสะพานหิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับ รพ.วชิระภูเก็ต ทำการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับชาวภูเก็ต โดยฉีดแบบใต้ผิวหนังเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต พร้อมด้วย พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม แพทย์ประจำ รพ.วชิระภูเก็ต ผู้ริเริ่มโครงการทำวิจัยฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แบบฉีดเข้าผิวหนัง โดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% และแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั่วไป
โดยการวิจัยดังกล่าวมีอาสาสมัครอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 242 คนที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวค แล้ว 2 เข็มเข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดแบบทั่วไป (แบบเข้ากล้ามเนื้อ) 120 คน โดยได้รับวัคซีน 0.5 ml และกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดแบบใต้ผิวหนัง 122 คน โดยได้รับวัคซีน 0.1 ml หรือ 1 ใน 5 ของการฉีดแบบทั่วไป
ผลการทดลองพบว่าภูมิต้านทานของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนัง มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,662.3 AU/ml และผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแบบทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,214.1 AU/m โดยผู้รับวัคซีนทั้ง 2 กลุ่มมีค่าภูมิคุ้มเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (840 AU/ml)
ส่วนผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังมีน้อยกว่าการฉีดแบบทั่วไป เช่น มีไข้หรือปวดศีรษะเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับการฉีดแบบทั่วไป แต่การฉีดวัคซีนแบบใต้ผิวหนังจะมีผลข้างเคียงบริเวณที่ฉีด เช่น ระคายเคืองและบวมแดงมากกว่า แต่ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงอนุมัติให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการฉีดเข็ม 3 แบบใต้ผิวหนัง