24 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 22/2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจังหวัดภูเก็ตไม่พบผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลากว่า 80 วันแล้ว และการติดตามมาตรการการป้องกัน ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการ กรณีลดวันกักตัวสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต, หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม
ซึ่งวาระการประชุมสำคัญในครั้งนี้ คือ การขอความเห็นชอบแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่มีกักตัวของจังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวทาง Phuket Tourism Sandbox โดยร่นระยะเวลาเปิดรับเร็วขึ้นจากเดิมวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยผู้ที่เข้ามานั้นจะต้องฉีดวัคซีนแล้วโดยมีเอกสารหลักฐานประกอบ และเมื่อเข้ามาถึงจะต้องมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นติดตามตัวตามที่ทางการไทยกำหนด
ในขณะเดียวกันที่คนภูเก็ตก็จะต้องได้รับการฉีดอย่างน้อย 70% ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้จัดทำแผนข้อมูลขอโควต้าวัคซีนจากรัฐบาลจำนวน 933,174 โดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนตามทะเบียนราษฎร์, แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว, แรงงานในธุรกิจอื่นๆ (ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน), กลุ่มผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว รวมจำนวน 466,587 คน โดยมีการกำหนดสถานที่ในการฉีดวัคซีนจำนวน 9 จุด มีทีมฉีดจำนวน 20 ทีมๆ ละ 19-20 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตให้กลับคืนมา
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ เห็นชอบที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โยไม่ต้องกักตัว แต่ยังมีความกังวลเรื่องของวัคซีนว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ และเมื่อได้มาแล้วประชาชนจะฉีดหรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งยังมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อให้มีการรับวัคซีนได้ตามจำนวนที่กำหนด
และสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกครั้ง ในส่วนการตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการสำรวจความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมายังประเทศไทย พบว่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะในตลาดรัสเซีย สแกนดินีเวีย เป็นต้น แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่กักตัว
นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวในที่ประชุมว่า การนำเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อเป็นการฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว โดยภูเก็ตของเป็นจังหวัดนำร่อง จากการสำรวจรายได้ของคนภูเก็ตก่อนเกิดโควิด-14 คนภูเก็ตมีรายได้เฉลี่ย 43,000 บาท/คน/เดือน แต่หลังเกิดโควิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,303 บาท/คน/เดือน หากยังไม่มีการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลงอย่างเฉียบพลันอย่างต่อเนื่อง
และคาดการณ์ว่าในเดือนกรกฎาคม 2564 จะทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลงเฉลี่ยเหลือเพียง 1,964 บาท /คน/เดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐเอกชนของจังหวัดภูเก็ตจัดร่วมกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและมีรายได้ โดยแนวทางดังกล่าวจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมของส่วนกลางในวันที่ 26 มีนาคม 2564 นี้