ภูเก็ต – มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยรายงานการวิจัยเกี่ยวกับ การลดลงอย่างเฉียบพลันของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูเก็ตต่อหัวของประชากรของจังหวัด จากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการกำหนดเป้าหมาย เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
วันเสาร์ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564, เวลา 09:00 น.
ชาวบ้านต่อแถวรับถุงยังชีพ 600 ชุด โครงการแบ่งปันสุขต้านโควิด ณ ลานใกล้สถานีอนามัยตำบลกะรน จากศิษยานุศิษย์วัดป่ายวนผึ้งที่ได้ร่วมแรงใจ กับชาวต่างชาติที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต ในนามของ Thailand Help 24 ม.ค. 64
ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดเผยกับ ข่าวภูเก็ต ว่า จากสมมติฐานอ้างอิงตัวเลขที่คำนวณได้และในข้อเท็จจริง ของสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดหวัดภูเก็ตก่อนและหลังโควิด-19 คาดว่าความเป็นไปได้ที่ดีที่สุด รายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวประชากรของจังหวัดภูเก็ตคูณตัวทวีคูณจะอยู่ที่ 3,711 บาท ในขณะที่เส้นความยากจนของประเทศไทยถูกระบุที่ 3,044 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวประชากรของจังหวัดภูเก็ตจะน้อยกว่า 3 พันบาท หากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่ำว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้
“จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เราพบว่ารายได้ของภูเก็ตในปีก่อนหน้าโควิด-19 คือประมาณ 4 แสนกว่าล้าน แต่ในปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 108, 464 ล้านบาท” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รายได้แสนกว่าล้านดังกล่าวนั้น 91% เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนรายได้ที่เหลือตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม 2563 นั้นมีเพียง 9%
“ยกตัวอย่างในเดือนธันวาคมรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดูเก็ตอยู่ที่ 1,586 ล้าน ตกลงมาจาก 56,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงไม่ถึง 3% ของปีก่อนหน้านั้น ช่วงเดือนเมษาถึงธันวาคมเราอยู่บนรายได้จากการท่องเที่ยวหลักพันหลักร้อยล้าน จากเดิมที่เราเคยอยู่ในหลักหมื่นล้าน”
“อันนี้คือข้อเท็จจริงและปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของภูเก็ตนั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงมีความยืดหยุ่นน้อยต่อภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลการสัญจรของคนซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของคนในจังหวัดภูเก็ตยังคงเป็นร้อยละ 20 จากสถานการณ์ปกติ ในขณะที่บางจังหวัดตัวชี้วัดดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 98
“แปลว่าการท่องเที่ยวของภูเก็ตฟุบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นก็ฟุบตามไป ทำให้มีการสัญจรน้อยลง ซึ่งมันสอดคล้องกับตัวเลขที่ประเมินทางเศรษฐศาสตร์มหภาคและข้อมูลบิ๊กดาต้า ในขณะที่จังหวัดอื่นตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 98 คือเกือบจะเป็นปกติ แต่ของเรายังต่ำมาก ทั้งจากตัวเลขที่คำนวณได้และในข้อเท็จจริง ทุกอย่างกระทบเป็นลูกโซ่กันหมด เศรษฐกิจของภูเก็ตวนลูปกับการท่องเที่ยว และผล กระทบที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตจะไม่ได้หยุดแค่ในจังหวัดภูเก็ต มันจะลุกลามและกระทบไปยังจังหวัดอื่นด้วย เพราะจากรายงานทางวิชาการเราพบว่าทุก 100 บาทที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายในจังหวัดภูเก็ตมันคือ 189 บาท (ตัวทวีคูณทางเศรษฐศาสตร์) ที่ทำให้เกิดเงินสะพัดในประเทศ” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว “ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงและเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ เมื่อเกิดความเสียหายก็จะกระทบกันทั้งหมด”
มองไปข้างหน้า
“เมื่อเราเข้าใจในผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วนั้น เราจะมองไปข้างหน้าอย่างไร” ผศ.ดร.ชยานนท์ ตั้งคำถาม “จากการจำลองสถานการณ์โดยใช้สถิติที่มีตัวแปรนำเข้าสำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้ามาเที่ยวในภูเก็ต ซึ่งเราจำลองสถานการณ์ หลังจากการคลายล็อกครั้งนี้ให้เหมือนกันการคลายล็อกครั้งแรก”
“เรามีตัวเลขหลังจากการคลายล็อกครั้งแรก นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาภูเก็ตเฉลี่ยวันละ 2-3 พันคน ตั้งแต่เดือน ก.ย. – พ.ย. เริ่มขยับมาเป็นวันละ 5-7 พันคน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น กว่าช่วง 3 เดือนแรกหลังคลายล็อก”
“เราจึงใช้ตัวเลขนี้มาสมมติว่าหลังจากการคลายล็อกครั้งนี้ หากการเดินทางเข้ามายังคงเป็นอัตราแบบนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราพบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวประชากรของภูเก็ต ในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากกว่าการคลายล็อกครั้งแรก ภาพที่ดีที่สุดรายได้ของเราจะอยู่ที่ 1,963 บาท สมมติไว้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยใช้นั้นสะพัดอยู่ในภูเก็ต และเมื่อเราเอา 1,963 คูณตัวทวีคูณมันก็จะเป็น 3,711 บาท” ผศ.ดร.ชยานนท์ อธิบาย
“โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับมาใน 3 เดือนแรก คิดเป็น 41% ของที่เคยเดินทางมาในช่วงเวลาเดียวกันก่อนโควิด (การคลายล็อกครั้งแรกเดินทางมาเพียง 33%) แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วง 6 เดือนข้างหน้ากลับมาน้อยกว่าการคลายล็อกรอบแรก อันนี้คือสถานการณ์ที่ลำบาก ต่อให้คูณตัวทวีคูณแล้วรายได้จากการท่องเที่ยวต่อหัวประชากรน่าจะต่ำกว่า 3 พันบาท ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้หน่วยงานราชการรับทราบและพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่”
“ซึ่งนี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้นที่พวกเราต้องร่วมไม้ร่วมมือร่วมใจกันพานักท่องเที่ยวชาวไทยกลับมา เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจเรา เราไม่มีทางเลือกอื่น เพราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนคือช่วงที่คนไทยเที่ยวทะเล ฤดูทะเลน่าเที่ยว เราต้องร่วมกันผลักดันโปรโมทให้เขากลับมาเที่ยวบ้านเรา ให้มีการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และบ้านเรามีดีหลายอย่างเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เราต้องดึงจุดขายออกมา โดยเฉพาะที่ผ่านมาทะเลภูเก็ตได้มีโอกาสฟื้นตัวและสวยงามมาก เราจะอาศัยโอกาสนี้ เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเต็มที่ และเมื่อเราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ เราก็จะขอเป็นเมืองที่ยืนหนึ่งในใจนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย”
“ในขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยกันประคับประคองกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีรายได้ไปด้วย ซึ่งในการระบาดครั้งที่แล้วภูเก็ตเราทำได้ดีมาก เรามีการแจกอาหารและสิ่งของ มีการช่วยเหลือจากอบท. อยากจะพูดให้ชัดเลยว่าสถานการณ์ตอนนี้มันหนักกว่าครั้งที่แล้ว เพราะหลายคนไม่มีเงินเก็บแล้ว ฉะนั้นสิ่งเราที่เคยทำอย่างเช่นตู้ปันสุข จึงเป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่าทุกครั้ง รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน”
การแก้ปัญหาระยะกลาง
เราจะนิ่งเฉยไม่ได้ เราต้องหาแนวทาง เพื่อที่จะให้ภูเก็ตกลับมารับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ ระหว่างนี้เราก็ให้บริการคนไทยไปด้วย เพื่อมาสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว
การแก้ปัญหาระยะยาว
การเกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ สอนให้เรารู้ว่าในระยะยาวเราต้องมองหาหนทางใหม่ เราต้องหาอุตสาหกรรมสร้างรายได้ใหม่ที่มีความยืดหยุ่นและมีการปรับตัว เพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว “เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เราต้องวางอนาคต ต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งภาคเอกชนก็ได้มีการเสนอ 7 อุตสาหกรรมใหม่มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมปลาทูน่า ไมซ์ซิตี้ การท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ หรือการศึกษา”
ผศ.ดร.ชยานนท์ เชื่อว่า โควิด-19 คงไม่ใช่ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจครั้งสุดท้ายของภูเก็ต และที่ผ่านมาภูเก็ตไม่เคยเจอปัญหาที่รุนแรงขนาดนี้ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤตในครั้งนี้ก็คือ “การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน”
“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าหากผมไม่สบาย ผมก็จะโทรไปบอกเพื่อนว่าปาร์ตี้คืนนี้ผมไม่ไปแล้ว เพราะผมอาจจะเป็นต้นเหตุของการระบาดระดับคลัสเตอร์ แม้ว่าส่วนตัวแล้วผมอยากจะไปสนุกกับเพื่อน ๆ เพราะถ้าเราฝืนไป คนอื่นจะเป็นอย่างไร และมันจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งจังหวัดเป็นอย่างไร จึงอยากขอฝากเอาไว้”
“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพราะเรามีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาภูเก็ตกลับมาสวยงาม เสมอเหมือนที่เขาเรียกว่าไข่มุกอันดามันอีกครั้ง ผมเชื่อในความเป็นมืออาชีพของผู้ให้บริการในจังหวัดภูเก็ต และเชื่อในความพร้อมและความสามารถในการรับมือโรคระบาดของจังหวัดภูเก็ต ภูเก็ตมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ เรามีองค์ความรู้สถิติทางด้านการระบาดที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำระดับนานาชาติ”
“สุดท้ายแล้วผมคิดว่าเราน่าจะมีองค์ความรู้ มีเครื่องมือ และความพร้อมที่จะออกไปจากวังวนนี้ได้ เพราะเรามีศักยภาพทางการท่องเที่ยว และตอนนี้เรารู้วิธีในการรับมือแล้ว” ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าว