เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวภูเก็ต – หลายหน่วยงานในภูเก็ตร่วมถอดบทเรียนและวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัย และดินสไลด์แบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกันเกิดเหตุซ้ำ
ที่ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะการถอดบทเรียนและวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยและดินสไลด์แบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2/2565 โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายอำนวย กล่าวว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดประชุมการถอดบทเรียนและวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยและดินสไลด์แบบบูรณาการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยและดินสไลด์ในห้วงระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2565 ในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทรัพย์สินของทางราชการ เช่น ถนนชำรุดเสียหายจนเกิดจราจรติดขัด เป็นต้น และยังส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านธรณี
ทั้งนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนชาวภูเก็ต นักเรียน นักศึกษาได้มีความเข้าใจและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขและป้องกันปัญหาภัยพิบัติในกรณีดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในด้านการป้องกัน ดูแลและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จังหวัดภูเก็ตจึงได้มีการเตรียมจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชน นักเรียน นึกศึกษาในระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานประชุมเชิงวิชาการในห้องประชุม และงานนิทรรศการด้านนอกห้องประชุมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในอนาคต
สำหรับกิจกรรมวิชาการ จะมีการนำเสนอเรื่องเหตุภัยพิบัติในจังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมา เช่น สึนามิ น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น ในรูปแบบ Powerpoint หรือวิดีทัศน์ เพื่อประมวลภาพความเดือดร้อนของจังหวัดภูเก็ตที่เกิดขึ้น จากนั้นเชื่อมโยงกับเหตุภัยพิบัติในโลกเพื่อให้เห็นความสำคัญว่า หากจังหวัดภูเก็ตไม่ดำเนินการอะไรอาจเกิดความเสียหายได้มากแค่ไหน และมีการให้ความรู้เชิงวิชาการเพื่อให้เห็นภาพใหญ่และภาพเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในหัวข้อ เช่น Survival in Phuket โดยอาจเชิญผู้มีประสบการณ์ ผู้สูญเสียจากเหตุภัยพิบัติในอดีตมาบอกเล่าประสบการณ์เพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขและให้กลุ่มผู้นำมาเสนอผลงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตเพื่อแสดงบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมจัดนิทรรศการ จะเป็นการนำเสนอภาพการทำงานของส่วนราชการต่างๆ เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่งนำทุ่นเตือนภัยสึนามิไปวางในทะเล และสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต นำเสนอองค์ความรู้ทักษะเอาตัวรอด เช่น การทำอาหาร เป็นต้น