เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ทูลกระหม่อมหญิงอุบล รัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ภาพในอินสตาแกรมส่วนพระองค์ เป็นภาพทรงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมมีข้อความอธิบายภาพว่า “Good morning kaa.. ในที่สุด…ก็ได้ฉีดวัคซีนซะที ดังที่คุณหมอบอกว่าทำงานอย่างเราถ้าได้ฉีดวัคซีนก็รีบฉีด…จะได้ทำงานอย่างสุขใจ #ToBeNumberOne #Covid19 #Vaccines #เพราะเราเป็นกำลังใจให้กัน #ไม่ว่างไม่ใช่ไม่สวย”
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เผยว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงรับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา การรับวัคซีนครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยในการฉีดวัคซีน
อีกด้านที่วัดไตรมิตรวิทยาราม นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯ กรรมการมหาเถรสมาคม เปิดโครงการถวายการฉีดวัคซีนโควิด-19 แด่พระสงฆ์จากวัดใน กทม. บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ในเขตสัมพันธวงศ์ อาทิ วัดไตรมิตรฯ วัดจักรวรรดิ วัดปทุมคงคา ฯลฯ มาฉีดวัคซีน โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ฉีดนำร่องเป็นเข็มแรก รวมทั้งสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ สมเด็จธงชัย วัดไตรมิตรฯ มาร่วมรับการฉีดด้วย
ก่อนการฉีดวัคซีน แพทย์ได้ตรวจวัดความดันของสมเด็จธงชัย ปรากฏว่าสูงถึง 180 ทำให้ต้องรอให้ความดันคลายลงมาแต่ก็ยังสูงอยู่จนต้องมีการเปลี่ยนเครื่องวัดความดันตัวใหม่และความดันลงมาที่ 160 แพทย์จึงฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา หมายเลขเอ 2911 ให้กับสมเด็จธงชัย ก่อนฉีด นายสาธิตได้แซวแพทย์ที่ฉีดและสมเด็จธงชัยว่า “ระวังเข็มหัก” ขณะที่สมเด็จธงชัยตอบว่า “ถอดของออกหมดแล้ว” เรียกเสียงหัวเราะให้กับทุกคน ภายหลังการฉีดวัคซีนสมเด็จธงชัยกล่าวว่า ไม่รู้สึกเจ็บ การที่รัฐบาลฉีดวัคซีนให้พระสงฆ์ถือเป็นเรื่องดีมากเป็นบุญกุศล ช่วยสร้างความมั่นใจและสร้างความเชื่อถือให้กับประเทศไทยก่อนจะเปิดประเทศ
![This image is not belong to us](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aczJFarIEWZxGTiqorfuMDibHiZlDL.jpg)
นายสาธิตกล่าวว่า ได้ฉีดวัคซีนให้กับพระสงฆ์ 151 รูป จาก 378 รูปในพื้นที่สัมพันธวงศ์ มีพระสงฆ์บางรูปไม่สมัครใจฉีดก็ไม่เป็นไรและฉีดเข็มที่สองในวันที่ 9 มิ.ย.โดยกระทรวงสาธารณสุขจะฉีดวัคซีนให้กับพระสงฆ์ในพื้นที่เสี่ยงก่อน อาทิ เขตบางแค บางขุนเทียน สะพานสูง เป็นต้น
ในส่วนการกระจายวัคซีนลอต 2 ไปยังจังหวัดในกลุ่มเป้าหมายชุดแรกนั้น ที่คลังยาและเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต วันเดียวกัน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผอ.โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำคณะตรวจสอบวัคซีนโควิด-19 จำนวน 5 หมื่นโดสจากที่ได้รับ 1 แสนโดสที่มาถึงภูเก็ตแล้วและนำจัดเก็บไว้ที่คลังยาของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 3 หมื่นโดส เก็บที่คลังยาโรงพยาบาลถลาง 2 หมื่นโดส ส่วนการฉีดจริงมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.
ผวจ.ภูเก็ตกล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตอยู่ในช่วงต้องเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมคนภูเก็ตถึง 70% จึงเป็นเรื่องท้าทาย จังหวัดจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ภูเก็ตรอด ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 1 ก.ค.
ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ผการัตน์ สายหยุด นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหัวหิน พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหัวหิน ตั้งจุดรับลงทะเบียนผู้ที่มีความประสงค์รับวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่อาศัยอยู่บริเวณ 13 ชุมชนรอบโรงพยาบาลหัวหิน มีผู้มาลงทะเบียนต่อเนื่องตลอดวัน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19 ได้ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี โดยเปิดรับลงทะเบียนจนถึงวันที่ 8 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.
วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19 ราย ค้นหาเชิงรุก 5 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 18 ราย มาจากระบบคัดครองที่สถานกักกัน 16 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากซูดานใต้ 2 ราย กำลังตรวจสอบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาหรือไม่ และเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ 2 ราย ทำให้ไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 28,863 ราย
![This image is not belong to us](https://www.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aczJFarIEWZxGTiqkCBF9o3oAnem2F.jpg)
สำหรับการติดเชื้อภายในประเทศ 24 ราย แบ่งเป็นพบที่ จ.สมุทรสาคร 11 ราย กทม. 10 ราย จ.สมุทรปราการ 3 ราย ส่วนสถานการณ์โลกติดเชื้อเพิ่ม 541,919 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมยืนยัน 128,796,905 ราย รักษาหายแล้ว 103,923,449 ราย เสียชีวิตสะสม 2,815,896 ราย จากตัวเลขทำให้เห็นว่ามียอดผู้ป่วยสูงกลับขึ้นมาอีก รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย แม้ว่าจะมีการกระจายวัคซีนแต่ตัวเลขยังคงสูงไม่เลิกรา
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กหารือถึงการติดเชื้อที่ จ.สมุทรปราการ ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงอายุ 28 ปี ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 มี.ค. การสอบสวนโรคพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 ราย โดย 1 ใน 5 ราย ติดเชื้อเป็นหญิงอายุ 25 ปี ผู้ติดเชื้อรายที่สองนี้ได้ไปสัมผัสคนรอบตัวและคนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกยังแพร่เชื้อไปติดสามีและเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานแพร่เชื้อไปยังน้องสาวและลูกชายอายุ 1 ขวบ 7 เดือน รวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก ปรากฏการณ์การนำเชื้อไปแพร่คนใกล้ตัวและครอบครัวลักษณะนี้เริ่มเห็นต่อเนื่อง
ผช.โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับที่ศูนย์กักบางเขน ที่ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เบื้องต้นมีตำรวจติดเชื้อ 3 นาย และบุคลากรของศูนย์ แผนกครัวที่ต้องปรุงอาหาร บริการอาหารให้ผู้ถูกกัก ผู้ทำความสะอาด แม่บ้าน คนครัว ศบค.ชุดเล็กจึงทบทวนแผนกระจายวัคซีน ไปให้บุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ด้วย รวมถึง อสม. บุคลากรด่านหน้า อย่างในพื้นที่ที่มีผู้อพยพข้ามแดนเข้ามาในขณะนี้และเจ้าหน้าที่อื่น ที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัด จากเดิมกระจายครอบคลุม 22 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง จังหวัดเศรษฐกิจ จังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดแนวชายแดน จึงจะกระจายครอบคลุมไป 52 จังหวัด มีทั้งจังหวัดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ สำหรับวัคซีนลอตใหญ่จะกระจายให้ครบ 77 จังหวัดในเดือน มิ.ย.
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังได้หารือมาตรการผ่อนคลายการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าไทย ปัจจุบันต้องกักตัว 14 วัน จากนี้จะกักตัวแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก กักตัวเพียง 7 วัน หากเป็นชาวต่างชาติต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 14 วัน ก่อนการเดินทาง กลุ่มสองกักตัว 10 วันเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ถึง 14 วัน ก่อนการเดินทาง หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 2 โดส กลุ่มสามผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานสายพันธุ์กลายพันธุ์ กลุ่มนี้ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เช่น สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล อังกฤษ หรือในอนาคตอาจมีสายพันธุ์ที่เพิ่มเติม ทั้ง 3 กลุ่ม จะนับเวลาของวันเริ่มที่เที่ยงคืนถึง 6 โมงเย็น หมายความว่าหากเดินทางมาถึงไทยตอน 18.00 น. จะนับวันเดินทางที่เดินทางถึงเป็นวันที่หนึ่งเข้าสู่สถานกักกัน แต่ถ้าเดินทางถึงไทยเวลา 19.00 น. จะนับวันที่หนึ่งของการกักตัวเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากมาถึงไทย
ผช.โฆษก ศบค.กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการทบทวนเรื่องการตรวจหาเชื้อชาวต่างชาติก่อนเดินทาง ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 และยืนยันไม่มีรายงานการติดเชื้อ จึงเข้าไทยได้ กลุ่มนี้จะตรวจผลโควิด-19 ครั้งที่หนึ่งในวันที่ 5-6 แต่กรณีคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน ไม่ได้ตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง จะตรวจหาโควิดแบบสวอบตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงไทยและตรวจอีกครั้งในวันที่ 5-6 นี่คือกลุ่มกักตัว 7 วัน ส่วนกลุ่มที่มีการกักตัว 10 วันจะมีการตรวจโควิดสองครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 3-5 ตรวจอีกครั้งวันที่ 9-10 ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีการกักตัว 14 วัน จะตรวจหาโควิดโดยวิธีการสวอบสามครั้ง ครั้งที่หนึ่งคือวันที่เดินทางถึงประเทศไทยในวันแรก ครั้งที่สองในวันที่ 6-7 และครั้งที่สามคือวันที่ 12-13 ทั้งนี้ ทุกกลุ่มยังมีกำหนดด้วยว่าจะต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วัน ถึงแม้ว่าจะออกจากสถานกักกันไปแล้ว นี่คือข้อสรุปในเบื้องต้นที่จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในฐานะ ผอ.ศบค. ในวันที่ 31 มี.ค. หากได้รับความเห็นชอบจะมีการประกาศใช้ในวันที่ 1 เม.ย.
เมื่อถามถึงรายชื่อจังหวัดที่จะได้รับวัคซีนทั่วประเทศมีการบริหารจัดการอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทุกพื้นที่ทุกจังหวัดไม่ได้ตกสำรวจ ศบค.ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ แต่ด้วยในช่วงแรกปริมาณวัคซีนมีจำกัด จึงมุ่งเน้นไปยังพื้นที่เสี่ยง ศบค.รับฟังข้อมูลจากทุกพื้นที่ พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงก็จำเป็นต้องระดมวัคซีนเข้าไปช่วยดูแลพื้นที่ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปพื้นที่อื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามที่ ศบค.ชุดเล็กเสนอ เรื่องการตรวจค้นหาเชื้อชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ที่ให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาต้องตรวจหาเชื้อและยืนยันผลตรวจเป็นลบจึงจะเดินทางเข้าประเทศได้ ทั้งนี้ ทุกกลุ่มยังมีกำหนดด้วยว่าจะต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วัน ถึงแม้ว่าจะออกจากสถานกักกันไปแล้ว ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในศูนย์กักบางเขน ตม. เดิมพบมีตำรวจติดเชื้อ 1 นาย ล่าสุดมีการติดเชื้อต่อให้เพื่อนร่วมงาน 2 นาย เนื่องจากกินอาหารร่วมกัน และนั่งรถยนต์ร่วมกับผู้ป่วยรายแรก โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทาง เป็นบทเรียนที่ขอเตือนประชาชนในช่วงสงกรานต์ ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะในรถสาธารณะและล้างมือบ่อยๆ
สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ หรือสตีโก ของเยอรมนี ประกาศคำแนะนำว่า บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา-มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ หลังข้อมูลหลักฐานที่ได้รับ แม้จะมีจำกัด แต่บ่งชี้ว่าไม่เหมาะสม สำหรับผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี และยังไม่ได้รับการฉีดแม้แต่เข็มเดียว ให้เป็นดุลพินิจของแพทย์ว่าสมควรฉีดหรือไม่และต้องมีการลงนามยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หลังจากได้รับคำอธิบายความเสี่ยงจากแพทย์อย่างละเอียด ส่วนผู้ที่ได้รับโดสแรกไปแล้ว สตีโกแนะนำให้ฉีดโดสต่อไปช่วงสิ้นเดือน เม.ย.
สื่อท้องถิ่นเยอรมนี เดอ ชปีเกล รายงานด้วยว่า คำแนะนำครั้งนี้มีขึ้นหลังสถาบันพอล เออร์ลิค ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบวัคซีนที่ใช้ในเยอรมนี รายงานข้อมูลว่า ในเยอรมนีมีผู้ได้รับวัคซีนแอสตรา-เซเนกาโดสแรกแล้วประมาณ 2.7 ล้านคน ได้รับครบ 2 โดสแล้ว ประมาณ 800 คน แต่มีการตรวจพบผู้เกิดอาการหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน 31 คน ในจำนวนนี้ 19 คน ยังพ่วงมาด้วยอาการเกล็ดเลือดต่ำ และจากทั้งหมด 31 คนนี้ มี 29 คน เป็นผู้หญิงอายุต่ำกว่า 70 ปี นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตจากอาการข้างเคียง 9 คน จากชุดข้อมูลดังกล่าวทำให้ประเมินได้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวอยู่ที่ 1 ใน 100,000 คน ไม่ใช่อย่างที่เชื่อกันก่อนหน้าว่า 1 ในล้านคน
ค่ำวันเดียวกัน ศูนย์ปฏิบัติการ COVID-19 จังหวัดนนทบุรี รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 2ราย รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 44 ปี ทำงานที่เทศบาลตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ โดยในห้องทำงานมีเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้างๆกันป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัด ไอมา 1 สัปดาห์ วันที่ 26 มี.ค. นั่งทำงานในห้องโดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยและไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานอีกแผนก ต่อมามีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ เสียงเปลี่ยน ลิ้นรับรสชาติอาหารน้อยลง วันที่ 28 มี.ค. เป็นกรรมการที่หน่วยเลือกตั้ง 23 คาร์แคร์ลุงหนู ตอนเย็นไม่สบายปวดหัว วูบ เป็นลม ถูกนำส่ง รพ. ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19
อีกรายเป็นชายไทย อายุ 27 ปี ชาว อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นพนักงานบริษัทเอกชนย่านพระปิ่น 2 หลังเลิกงานจากบริษัทจะไปทำงานเป็นพนักงานคุมเครื่องเสียงที่สถานบันเทิงตลาด Groove market ศาลายา 1 จังหวัดนครปฐม วันที่ 29 มี.ค.ช่วงบ่ายเริ่มมีอาการปวดศีรษะ กลางคืนไปทำงานคุมเครื่องเสียงที่ร้านเดิมเวลา 23.00 น.เจ้าหน้าที่มาแจ้งที่ร้านใครที่ไปเดินตลาด Groove market ให้ไปตรวจเนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ วันที่ 30 มี.ค. ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลพุทธมณฑล จนเวลา 22.00 น. โรงพยาบาลโทร.แจ้งผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 วันที่ 31 มี.ค. รถพยาบาลมารับเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล