ศูนย์ข่าวภูเก็ต – ตายปริศนาพบซากวาฬหัวทุยแคระ ถูกคลื่นซัดลอยเกยตื้นที่อ่าวหลาน้อย เกาะราชาใหญ่ จ. ภูเก็ต พบมีบาดแผลถูกของมีคมบาดที่โคนหาง
วันนี้ (24 พ.ค.65) นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ประจำเกาะราชา ว่า พบซากวาฬหัวทุยแคระ ลอยมาเกยตื้นบริเวณอ่าว หลาน้อย เกาะราชาใหญ่ ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต จากการตรวจสอบพบ มีบาดแผลลักษณะคล้ายโดนของมีคมบาดบริเวณโคนหาง ขณะที่ผิวหนังของลำตัวเริ่มแห้งจนดำ จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน (อันดามัน) เพื่อนำซากมาผ่าเพื่อหาสาเหตุการตายที่แน่ชัด
โดยวาฬดังกล่าวมีความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 50-60 กิโลกรัม อายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น เบื้องต้นยังไม้ทราบสาเหตุการตาย
สำหรับวาฬหัวทุยแคระ ซึ่งมีหัวป้านคล้ายปลาฉลาม บริเวณระหว่างตาและครีบข้าง มีลวดลายคล้ายแผ่นปิดเหงือกในปลา เรียกว่า False gill ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวาฬในครอบครัว Kogiidae ลักษณะดังกล่าวเป็นพัฒนาการเพื่อการพลางตัวจากฉลามที่เป็นผู้ล่า
ครีบข้างมีขนาดเล็ก ครีบหลังสูงและใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับวาฬหัวทุยลุย ปลายโค้งงอเล็กน้อย สูงมากกว่า 5% ของความยาวลำตัวอยู่บริเวณกึ่งกลางลำตัว ตำแหน่งช่องหายใจอยู่ห่างจากปลายหัวมากกว่า 10% ของความยาวลำตัว ซึ่งเป็นอีกลักษระที่แตกต่างจากวาฬหัวทุยเล็กที่ช่องหายใจห่างจากปลายหัวน้อยกว่า 10%
ลำตัวครึ่งบนที่มีสีน้ำตาลเทาเข้มถึงดำ ส่วนท้องมีสีขาว บริเวณรอบตัวตามีสีเทาเข้ม มีฟันผอมบางคล้ายเขี้ยวงู เฉพาะที่ขากรรไกรล่างจำนวน 7-12 คู่ (อาจมีมากได้ถึง 13 คู่ แต่มีน้อยมาก) ตัวเต็มวัยยาว 2.7 ม.หนัก 272 กก. เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย แรกเกิดยาว 1 ม.หนัก 14 กก. มีระยะการให้นมประมาณ 1 ปี มีอายุยืนเพียง 22 ปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 5 ปี
วาฬหัวทุยแคระอยู่รวมกันฝูงขนาดเล็ก 6-16 ตัว อาหารส่วนใหญ่เป็นหมึกน้ำลึก อาศัยบริเวณขอบนอกของไหล่ทวีป ในเขตร้อนจนถึงเขตอบอุ่น พบได้ทุกมหาสมุทร ในประเทศไทย พบเกยตื้นเฉพาะฝั่งอันดามัน ข้อมูลการเกยตื้นระหว่างปี 2539 -2564 พบ 9 ตัว