1 ก.พ. จับตา “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะประชุมคจร. นัดแรกในรอบ 10 เดือน จับตา”คมนาคม” ชงรื้อโมเดลรถไฟฟ้าขอนแก่น ภูเก็ต เส้นทางรถเมล์ ผ่าทางตันด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ หลังม.เกษตรต้านไม่เลิก ตัดสร้างแยกเกษตร-วงแหวนฯ ฟื้นตอม่อ 281 ต้น ลุยคิกออฟระบบM-FLOW มอเตอร์เวย์วิ่งทะลุด่านทับช้าง ธัญบุรี
วันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 1 ก.พ. 2564 จะมีการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบปี 2564 และรอบ 10 เดือน นับจากประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ทบทวนรถไฟฟ้าขอนแก่น-ภูเก็ต
สำหรับวาระ มีรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ,ความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ – ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาค จ.ขอนแก่น รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจ.ขอนแก่น เส้นทางนำร่อง สายสีแดง (สำราญ – ท่าพระ) ระยะทาง 22.8 กม.วงเงิน 26,963 ล้านบาท
และความคืบหน้าการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 35,201 ล้านบาท
เคาะสร้างด่วน N2-รื้อเส้นทางรถเมล์
นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนออนุมัติโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่งแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม) โดยจะเสนอขออนุมัติสร้างทางด่วนสายเหนือ ตอน N2 และต่อขยาย E-W Corridor ช่วง ถ.เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม.วงเงิน 15,200 ล้านบาท ไปก่อน
เนื่องจากได้ระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนน 14,382 ล้านบาทไว้แล้ว แต่ติดปัญหาพื้นที่ก่อสร้างช่วงแยกเกษตร ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ยังไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับพาดผ่านหน้ามหาวิทยาลัย
โดยช่วง N2-ขยาย E-W Corridor จะสร้างในแนวถนนเกษตร-นวมิทร์ ซึ่งจะใช้โครงสร้างตอม่อเดิม 281 ต้น และโครงสร้างร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ระยะทาง 7.5 กม.
ด้านกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เสนอแนวทางการปฏิรูปเส้นทางระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 162 เส้นทาง
ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) เสนอบรรจุโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนPPP วงเงิน 32,187 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
คิกออฟ M-FLOW มอเตอร์เวย์
พร้อมกับเสนอแผนการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow)มอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงและ การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายกับผู้หลีกเลี่ยงฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยจะนำร่องบนมอเตอร์เวย์สาย 9 กาญจนภิเษกด้านทับช้างกับด้านธัญบุรี และจะมีการเสนอโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองจ.อุดรธานี