ภูเก็ตหรือไข่มุกอันดามัน เคยมีท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร กับหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง คุ้มครองปกป้องมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์
ทั้งทัพพม่ารามัญและขบถอั้งยี่เคยถูกสองวีรสตรีกับพระสงฆ์มีตบะและบุญญาธิการสูงปราบปรามราบคาบมาแล้ว ดังนั้นขบถสามกีบยุคใหม่อย่าได้หวังใช้ความขลังความดังของไข่มุกอันดามันมาปั่นกระแสขบถทรยศชาติในเมืองนี้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณหญิงมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลางหรือเกาะภูเก็ต จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อพ.ศ. 2328 ภูเก็ตวันนี้มีอนุสาวรีย์ของสองวีรสตรีตั้งเด่นสง่าอยู่กลางเมือง
และต่อมาในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่นคนในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง ได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ต ก่อเหตุวุ่นวาย ถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัด เป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิงฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลอง ชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่าเข้าวัด ทิ้งบ้านเรือน ปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือน ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลองต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร
เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่าเมื่อท่านไม่หนี พวกเขาก็ไม่หนี จะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย
หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืนเมื่อได้ของคุ้มกัน คนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่
ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้าน ก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากันกลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่าถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า
“ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้”
ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะ เป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่ เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย
รบกันจนเที่ยง พวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มปลากินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อน ชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป
คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงมีพระปฏิสันถารกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง ในโอกาสเดียวกัน พระราชทานนาม
วัดฉลอง เป็น วัดไชยธาราราม
ตบะและบุญญาธิการของหลวงพ่อแช่มมีอีกมากมายแต่ขออนุญาตย่อเพียงแค่นี้เพราะมีพื้นที่จำกัด หลวงพ่อแช่มไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้น ที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนถึงในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้น ต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่ม
เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย
การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้ว ก็หันมาเลื่อมใส ให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพศต่างๆ ในครัวเรือน ต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่ม
วันนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และของดีทั้งสองอย่างในเมืองถลางยังคุ้มครองภูเก็ตให้พ้นภัยอันตราย ท่านจึงดลใจให้รัฐบาลทำโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” ทดลองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจังหวัดแรก และเมื่อโครงการแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ตได้ผลรัฐบาลก็ขยายวงรับนักท่องเที่ยวออกไปเป็น 17 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ
แต่พอภูเก็ตกลับมาดังติดอันดับโลกขึ้นอีกครั้งหนึ่งก็มีการเตรียมที่จะใช้เมืองนี้ให้มีการประชันขาอ่อน จากกลุ่มคนที่ต่อต้านขัดขวางทุกอย่างที่เป็นไทย
เช่นเมื่อปีกลายกลุ่มคนรุ่นใหม่ส่งสาวไทยไปประกวดในเวทีสากล ในการฝึกทดลองให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ผู้ที่อ้างเป็นตัวแทนจากประเทศไทยตอบคำถามว่า “ระหว่างผู้นำประเทศที่ทำงานช้าแต่ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นเลย กับผู้นำที่มีความคิดก้าวหน้าแต่คอร์รัปชั่น บ้างนางจะเลือกคนไหน?
ผู้ที่อ้างเป็นตัวแทนสาวไทยตอบว่า “เลือกคนที่คอร์รัปชั่นเพราะท่านทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้า”
นี้คือการรุกรานทางวัฒนธรรมแบบใหม่ และขณะที่เก็บตัวผู้เข้าประกวดบางคนล้มตัวลงนอนเมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติไทย ผู้เข้าประกวดบางคนไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรรุ่นใหม่ที่ฝักใฝ่โจมตีทำร้ายทำลายสถาบัน
และราวกับหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง ดลใจทำให้คนภูเก็ตต่อต้านการประกวดที่มีจุดหมายทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของไทย มัคคุเทศก์ สาวไทยที่ทำมาหากินอยู่ในเกาะภูเก็ตหลายปีเขียนข้อความมาถึงคอลัมน์นี้ว่า “คนภูเก็ต ยิ่งคนจีน คนภูเก็ตแถวในเมือง อนุรักษ์นิยมมากค่ะ งานของ…จัดไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต แกพึ่งได้เป็นครั้งแรก แกเอาคะแนนคนภูเก็ต แกไม่สนใจ งานอีเว้นท์แบบเสียคะแนนค่ะพอดีเป็นเพื่อนกับ สมาชิกเทศมนตรีบาส ลูกชายแกค่ะ รวมทั้งกลุ่ม Lion Club หรือ นักธุรกิจเขาก็กลัวเสียภาพลักษณ์ค่ะ ภูเก็ตจัดยากค่ะ ขนาดจัดเวทีของเด็กสามกีบ ยังโดนต้าน แล้วภูเก็ต มีชื่อเสียงด้วยตัวเองอยู่แล้วค่ะ”
นั้นเป็นเสียงหนึ่งของหลายคนในเกาะภูเก็ตที่บอกกับ “แนวหน้า”
“นายสาโรจน์ อังคณาพิลาศ” นายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ตบอกกับ “แนวหน้า” ว่าผู้จัดการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ทำหนังสือมาว่า คณะจะมาเก็บตัวและจัดงานที่ภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. ถึง 6 ธ.ค. และจะขอปิดถนนถลางในวันที่ 18 พ.ย. ตั้งแต่ 10.00 น. ถึงเวลา 19.00 น. เพื่อใช้พื้นที่ถนนจัดงาน”
ผมได้ตอบหนังสือเขาไปแล้วว่าเรื่องปิดถนนทำไม่ได้ผมไม่อนุญาตเพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและสร้างความรำคาญให้แก่นักท่องเที่ยว
นี้เป็นธุรกิจส่วนตัวมาอ้างว่าช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าเขามากันกี่คนและพักที่ไหน
“แต่ทุกคนที่เข้ามาเกาะภูเก็ตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดป้องกันโควิด คือต้องฉีดวัคซีนครบโดสและตรวจว่าไม่พบเชื้อ 72 ชม.ก่อนมา”
เจ้าหน้าที่ส่วนไหนรับผิดชอบอะไรส่วนไหนก็ทำไปแต่ส่วนการปิดถนนจัดงานบนถนนเป็นความรับผิดชอบของผม ผมไม่อนุญาตหากฝ่าฝืนต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อนายกเทศมนตรีและประชาชนหลายคนที่ติดต่อได้ในเกาะภูเก็ตยืนยันว่าไม่สนับสนุนและคัดค้านการจัดประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์เข้าใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ ก็คงไม่เห็นด้วยกับการจัดอีเว้นท์ที่ไม่ได้ส่งเสริมแต่กลับทำลายการท่องเที่ยวแห่งเกาะไข่มุกอันดามัน
ภูเก็ตมีจุดขายในตัวเองมานานหลายทศวรรษแล้ว ก่อนมีโควิดนักท่องเที่ยวมาภูเก็ตปีละประมาณ 13 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทย 2-3 แสนล้านบาท
ดังนั้นผู้ที่ความคิดในแง่ลบต่อประเทศไทยไม่ต้องมาช่วยโปรโมทให้ ทางที่ดีให้อยู่ไกลๆ เกาะภูเก็ตก่อนจะเจอหมัดเด็ดเหมือนโรงงานแทนทาลัม
สุทิน วรรณบวร