มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สำนักงาน กสม. ร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน โดยมี ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายบุญเกื้อ สมนึก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอาจารย์ธีรพงษ์ หนูไชยแก้ว คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมลงนาม ในการนี้มีคณะผู้บริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ที่อาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
การลงนามบันทึกความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และสามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้วิชาการให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ให้มีความสมบูรณ์และมีพลวัตที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริงของท้องถิ่น พร้อมทั้งร่วมกันดำเนินกิจกรรมในด้านการบริการวิชาการ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสริมสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในและนอกพื้นที่
ทั้งนี้ การดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษาจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันตามกรอบภารกิจ หน้าที่และอำนาจของตน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.การส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสถาบันการศึกษา ตามกรอบความร่วมมือนี้ 2. การร่วมพัฒนาหลักสูตรหรือรายวิชาด้านสิทธิมนุษยชน และจัดให้มีการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน อย่างเป็นระบบในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ นำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม 3. การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับบริบท วิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตนเองและส่วนรวมได้อย่างถูกต้อง 4. การสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์จากผลงานทางวิชาการระหว่างกัน บริการวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่และนำผลมาวิเคราะห์หาแนวทางและผลักดันในการแก้ปัญหาร่วมกัน ตลอดจนการประสานเพื่อผลักดันนโยบายเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เสนอต่อรัฐบาล
5.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมให้อาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ได้รับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านประสบการณ์จริงในพื้นที่ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ 6. การส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพ/สหกิจศึกษา ของนิสิต นักศึกษา ณ สำนักงาน กสม. หรือองค์กรเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสามารถนำความรู้มาพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป 7. การสร้างพื้นที่ความร่วมมือและการพัฒนาหรือขยายเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในการส่งเสริมปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน