หมายเหตุ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 28 ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้ สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เดินหน้าขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) และสตาร์ตอัพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก ภายใต้การเติบโตที่ยั่งยืน
ที่ประชุมได้ร่วมหารือแถลง การณ์สะท้อนถึงการประชุมที่เกิดขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ตอัพ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ภายในภูมิภาคเอเปค พร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินการต่างๆ ร่วมกัน ระหว่างรัฐมนตรี สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมระดับรัฐมนตรีของ SME เรื่อง การฟื้นตัวโดยรวมของ MSME ในเอเปค ผ่าน
ไบโอ-เซอร์คูลาร์-กรีน อีโคโนมี หรือ บีซีจี (Bio-Circular-Green Economy-BCG) และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ได้สรุปการประชุมรัฐมนตรีภายใต้เขตเศรษฐกิจเอเปคว่า ในการประชุม ได้มีการหารือว่าเขาจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ตอัพ พวกเขาจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ผ่านความยืดหยุ่นทางดิจิทัล จะช่วยให้ MSME เกิดการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ร่วมกันหารือและสนับสนุนในประเด็นดังต่อไปนี้
(1) เร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดเล็ก และยังสนับสนุนความพยายามของโลกที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อน
(2) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย ที่มีทักษะในด้านดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ
โควิด-19
(3) การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย มีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ “เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่หลากหลาย และอาจมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอกว่า” เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งจะช่วยให้ใช้ศักยภาพที่มีรัฐมนตรีและตัวแทนระดับสูงในการประชุมสนับสนุนให้มีมาตรการ ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของการปล่อยกู้
(4) การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ตอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี ผู้ประกอบการที่เป็นเยาวชน และกลุ่มอื่นๆ จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สสว.จะดำเนินการรวบรวมแนวคิดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการประชุมในครั้งนี้ และมุ่งพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการระบุแนวปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ MSME ผ่านการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีต่อไป เพื่อเป้าหมายของการพัฒนา MSME ของเขตเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
และบรรลุเป้าหมายของการประชุมเอเปค 2022 คือ “Open Connect Balance” หรือการให้เอเปค “เปิด” ต่อทุกโอกาส “เชื่อมต่อ” ในทุกมิติและ “สมดุล” ในทุกด้าน
ผลประชุมAPECSMEWG
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนัก งานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Ready for the ‘Next Normal’: How MSMESs should Adapt to an Evolving Market Landscape ภายใต้ทุนสนับสนุนของ เอเปค เอสเอ็มอี เวิร์กกิ้ง กรุ๊ป (APEC SME Working Group-SMEWG) ว่า การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จากเขตเศรษฐกิจสมาชิกของ เอเปค รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทชั้นนำ และองค์กรนานาชาติ อย่าง อเมซอน, เฟซบุ๊ก, ยูนิลิเวอร์,องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development, OECD), สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ไทเป, องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์ สมาคมการค้า และ MSMEs รวมกว่า 200 คน
มี 4 ประเด็นหลักต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา SME ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านขนาดและมิติด้านอื่นๆ เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นต้น สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ ควรให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้ MSMEs สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในยุคหลังโควิด-19 ประกอบด้วย
1.กระบวนการพัฒนา MSMEs ควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญการพัฒนานโยบายในรูปแบบ โพลิซี มิกซ์ (Policy Mix) เนื่องจากความแตกต่างกันของ MSMEs ทั้งในเชิงศักยภาพของพื้นที่ ภาคธุรกิจ และความสามารถของผู้ประกอบการ ทำให้การส่งเสริม MSMEs ต้องทำในรูปแบบ ไดนามิก (Seperate & Focus on Target) ต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจน เช่น ผู้ประกอบการสตรี ผู้ประกอบการชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ ฯลฯ โดยสร้าง โปรแกรม การส่งเสริมที่เชื่อมโยงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง พร้อมกับการร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการผลักดัน MSMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อลดปัญหา อุปสรรค และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ MSMEs โดยเฉพาะในเรื่อง เครดิต เทอม ในไทยส่วนใหญ่ให้ เครดิต เทอม กับ MSME ไม่เกิน 45 วัน แต่ในหลายเขตเศรษฐกิจมีการให้ไม่เกิน 30 วัน สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อความอยู่รอดและการขยายโอกาสให้ MSMEs มาก 3.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ OECD ได้เสนอแนะเครื่องมือ นโยบาย กฎหมาย แต่ละเขตเศรษฐกิจสามารถช่วยเหลือ MSMEs ให้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น สำหรับไทย สสว.ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สนับสนุน MSMEs ผ่านมาตรการสนับสนุนให้ MSMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบไทย เอสเอ็มอี-จีพี (THAI SME-GP) ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา ภาครัฐซื้อสินค้าจาก MSMEs รวมมูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด
“ประเด็นที่น่าสนใจและมีการพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น จากผลการศึกษาของ OECD ระบุว่า การแบ่งปริมาณในการซื้อสินค้าหรือบริการต้องส่งมอบในแต่ละสัญญาให้เหมาะสมต่อศักยภาพของ MSMEs เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น ในกลุ่มประเทศ OECD มีการซื้อสินค้าจาก MSME คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ของจีดีพี ของกลุ่ม OECD ขณะที่จีนมีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจาก MSMEs มากกว่า 75.5% ของจำนวนสัญญาการจัดจ้างภาครัฐ กว่าครึ่งขอจำนวนนี้เป็นการจัดซื้อของวิสาหกิจรายย่อย (Micro`) และวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ที่สำคัญจีนจะมีกฎหมาย กฎระเบียบ ในการจัดซื้อจัดจ้างเอื้อต่อ MSMESs ทั้งมาตรการด้านราคา การพัฒนา และบรรเทาผลกระทบ ขณะที่ MSMEs จะได้รับสิทธิพิเศษทั้งในเรื่องแต้มต่อ สิทธิประโยชน์ทางภาษี รายได้ รวมถึงการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้าง” ผอ.สสว.กล่าว
และ 4.การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดภาคเอกชน โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสตรี กลุ่มผู้ประกอบการเป็นชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสตรี ยูเอ็น วูแม่น (UN Women) และ ยูนิลิเวอร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นในการจัดซื้อจัดจ้างจาก MSMEs ให้คำนึงถึงความหลากหลายของซัพพลายเออร์ทั้งในมิติของกลุ่มธุรกิจ และมิติทางเพศสภาพ เพื่อสร้างความเสมอภาค ส่งเสริมทำงานร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในสังคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย เสนอแนะเพิ่มเติมว่าไทยมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้าง MSMEs ให้มีมาตรการอย่างยั่งยืน รวมถึงให้มีผู้หญิงเข้ามาในห่วงโซ่อุปทาน และการสร้างดิจิทัล การพัฒนาการเงิน สถาบันการเงินควรมีกระบวนการจะเอื้อให้ MSMEss ก้าวข้ามอุปสรรคเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ปัจจุบันไทยมี MSMEs มากกว่า 3 ล้านราย และช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ตอนนี้สถาบันการเงินในหลายๆ แห่งได้ร่วมมือกันเพิ่มการดูแล จัดการด้านการเงินให้แก่ MSMEs โดยมีการลงทุนด้านดิจิทัล ลดการใช้กระดาษ และทำให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งทุนทางดิจิทัลมากขึ้น
ชงข้อเสนอต่อที่ประชุมรมต.
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Working Group: APEC SMEWG) ครั้งที่ 54 ที่จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เป็นการประชุมระดับคณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเอเปค SME โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดเห็นและรวบรวมผลสรุป ทั้งด้านความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอและรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ที่มีขึ้น
ในวันที่ 9-10 กันยายน
การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมให้ MSMEs ทุกเขตเศรษฐกิจ ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเด็นแลกเปลี่ยนที่สำคัญ มี 3 เรื่อง ดังนี้
1.สำนักงานเลขาธิการเอเปค ได้นำเสนองานวิจัยที่สรุปว่า MSMEs ทั่วเอเชียแปซิฟิก ยังส่งออกได้น้อยมาก แม้ว่าต้นทุนของการทำการค้าทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิกลดลง แต่กลับพบว่าต้นทุนในการทำการค้าของ MSMEs สูงขึ้น เพราะฉะนั้นข้อแนะนำคือ ให้รัฐบาลของเขตเศรษฐกิจเร่งลดอุปสรรคในการทำการค้า โดยเฉพาะต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ MSMEs ในภูมิภาคเอเปค ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
2.สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เป็นกลุ่มภาคเอกชนที่รวมตัวกัน ได้เน้นย้ำถึงดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ว่าการปรับตัวของ MSMEs เปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ MSMEs ฟื้นตัวได้ ขณะเดียวกัน การจะทำให้ MSMEs อยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัล ยังมีอุปสรรคสำคัญด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยิ่งผ่านพ้นโควิด-19 MSMEs ส่วนใหญ่จะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อเพื่อการค้า ควรอาศัยข้อมูล แทนการอาศัยหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยภาคธุรกิจของเอเปค นำเสนอว่า เขตเศรษฐกิจต่างๆ ควรจะเร่งรัดส่งเสริม ซัพพลาย เชน ไฟแนนซิ่ง (Supply Chain Financing) แพลตฟอร์ม (สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ) เพื่อให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยอาศัยข้อมูลเรื่องการค้าแทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน
และ 3 เป็นการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ประสบการณ์ต่างๆ ว่าแต่ละเขตเศรษฐกิจใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของไทยได้เน้นย้ำมาตรการหลักๆ ช่วยเหลือ MSMEs เป็นมาตรการที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจ อันได้แก่ การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ-ภาคเอกชน การลดระยะเวลาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทขนาดเล็ก หรือ MSMEs ให้สั้นลง (Credit Term) มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่กลับมีผลกระทบสูง ทำให้ MSMEs สามารถมีเงิoทุนหมุนเวียนได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม MSMEs บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการส่งเสริม MSMEs ของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นไทยจึงมีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน MSMEs ไม่ใช่เพียงกระทรวงเดียว แต่กว่า 10 กระทรวงที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน “การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ MSMEs ไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ได้นำผู้นำเศรษฐกิจต่างๆ มาร่วมการประชุมที่จังหวัดภูเก็ตนี้ ทั่วโลกต่างรับทราบว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เมื่อได้มาสัมผัสภูเก็ตจะเห็นได้ว่า ภูเก็ตมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และหลังจากได้พูดคุยกับผู้กำหนดนโยบายจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ เขาจะรู้สึกประหลาดใจเพราะภูเก็ตกลับมาสู่สภาพเดิม เหมือนไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ” ดร.วิมลกานต์กล่าว
สำหรับผลการประชุม APEC SMEWG คาดว่าจะมีข้อเสนอร่วมกันใน 4 ด้าน ดังนี้
1.วิธีการส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น โดยผ่าน ฟินเทค หรือ เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ 2.การเข้าถึงตลาด โดยการลดต้นทุนทางการค้าและส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและภาคเอกชน 3.ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) มีประเด็นคือกลุ่มธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการขยายธุรกิจ จึงไม่ต้องปลดคนงานอีกทั้งยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย และ 4.การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเรื่องที่มีการหารือร่วมกัน โดย กรีน ซัพพลาย เชน หรือ ห่วงโซ่อุปทานจะเน้นผลิตภัณฑ์เป็นเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy-BCG)
เป็นเทรนด์ทั่วโลกให้ความสนใจ