แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันติด 10 อันดับแรกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภูเก็ตเสนอให้มีการลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วันเหลือ 5+5 โดย 5 วันหลังสามารถออกมาใช้ชีวิตปกติได้แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention พร้อมกับปรับรายงานผู้ติดเชื้อรายวันเฉพาะผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้เสียชีวิต โดยไม่ต้องรายงานกลุ่มสีเขียว เช่นเดียวกับกับลดการตรวจ RT-PCR นักท่องเที่ยวเหลือแค่ครั้งเดียว บนพื้นฐานของแนวความคิดในการนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
เพราะอะไรพวกเขาถึงคิดว่าโควิด-19 ควรเข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่นได้แล้วทั้งที่ตัวเลขอยู่ผู้ติดเชื้อภูเก็ตยังอยู่ที่ 698 ราย ณ ข้อมูลวันที่ 26 ก.พ. และอาจเกิดปัญหายาฟลาวิพิราเวียร์ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในด้านการท่องเที่ยว สาธารณสุข รวมไปถึงคนในพื้นที่และจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองในอีกด้านหนึ่ง
>> ทำไมต้องเป็นโรคประจำถิ่น
โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น แต่มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาให้โควิด-19 เข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่น หากเข้าหลักเกณฑ์ 1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน 2. อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1000 3. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4. กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ที่มียอดผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 2 หมื่นราย และยังมีปัญหาเรื่องการเข้ารับการรักษาในบางพื้นที่จึงยังเป็นไปได้ลำบาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการรุนแรงและการเสียชีวิตที่ลดลง แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น ทำให้ ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต มองว่าควรมีการเปลี่ยนวิธีการจัดการเพื่อให้อยู่ร่วมกับมันและสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติและฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ในเมื่อตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และอาการของสายพันธ์โอมิครอนก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์เยอะเหมือนก่อนหน้านี้
ขณะที่ประชาชนยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ในการเข้าประเทศภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่/ทั่วโลก (Pandemic) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
ด้วยเหตุนี้ นายกสมาคมท่องเที่ยวภูเก็ต เชื่อว่าการปรับตัวเข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในแง่ของการนำไปสู่การเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและมาตรการต่างๆ ให้เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวและการดำเนินชีวิตเพื่อปากท้องของทุกคน เพราะการต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วันโดยที่ไม่มีอาการใดๆ ไม่เพียงส่งผลต่อรายได้ของครอบครัว แต่ยังกระทบต่อระบบแมนพาวเวอร์ที่หายไปด้วย
“หากยังเป็น Pandemic อยู่มันมีเงื่อนไขของการปฏิบัติที่จำเป็น แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นแล้วมันก็มีวิธีการปฏิบัติอีกแบบหนึ่งเหมือนกับที่เราปฏิบัติกับโรคไข้หวัดใหญ่”
เหมือนกับที่ดร.แอนนา แบลคนีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวไว้ว่าหากมีโรคระบาดหรือโรคระบาดใหญ่/ทั่วโลกเกิดขึ้น เราต้องใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อนเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของมัน แต่เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น มาตรการเดียวกันนี้อาจไม่จำเป็นหรือจำเป็นก็ได้
>> หลายชาติคิดเหมือนกัน
“แนวคิดนี้ไม่ได้มีแต่เราที่คิด หลายประเทศก็เห็นไปในแนวทางเดียวกัน หลังเริ่มเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง” ภูมิกิตติ์ ย้ำแนวคิด
นอกจาก บรูไน จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นชาติแรกเมื่อเดือนกลางเดือนธ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว เดนมาร์ก ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งหมด หลังจัดประเภทให้เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงในสังคมอีกต่อไป เพราะแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบสาธารณสุข ประกอบกับเดนมาร์กมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงในประชากรที่อายุ 5 ปีขึ้นไปครบโดส มากกว่าร้อยละ 80 และอีกประมาณร้อยละ 60 ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว
ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง สเปน และ สหราชอาณาจักร ก็มีการสื่อสารอย่างเป็นทางการว่าสังคมจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัส และหลายชาติมีการลดเวลากักตัวเหลือ 5-7 วัน อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐ และสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น
“โควิดจะไม่หายไป มันจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี หลายปี บางทีอาจจะตลอดไป และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ผมคิดว่าเรากำลังเป็นผู้นำในยุโรปในการเปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น และเรากำลังจะแสดงให้โลกเห็นว่าคุณจะอยู่กับโควิดได้อย่างไร” ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร กล่าว
>> ระบบสาธารณสุขเอาอยู่จริงหรือ
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่าแม้สายพันธ์โอมิครอนจะมีการแพร่ระบาดง่ายจนมีผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง แต่ด้วยแนวทางการรักษาในปัจจุบันที่เน้นระบบ HI และ CI สำหรับคนในท้องถิ่น รวมไปถึงระบบ Hotel Room Isolation ที่มีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก Hospitel สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับไหวแน่นอน ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความเข้าใจและยอมรับมากขึ้น ช่วยให้การบริหารจัดการง่ายขึ้นกว่าก่อนหน้านี้
(นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล)
ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (ณ วันที่ 25 ก.พ.) พบว่า สถิติการครองเตียงของจังหวัดภูเก็ตอยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนของผู้ป่วยสีแดงยังมีเตียงว่าง 60 เปอร์เซ็นต์ สีเหลือง 33 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สีเขียวอย่าง รพ.สนาม hospital และ CI ว่างอยู่ 81% 43% และ 49% ตามลำดับ
“สำคัญคือเรื่องวัคซีน แม้ภูเก็ตจะมีการฉีดบูสเตอร์มากที่สุดในประเทศแล้ว แต่ก็อยากให้ประชาชนมาฉีดให้ถึง 80% เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต เพราะผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นกลุ่ม 608 และไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนกลุ่มสีเขียวเมื่อเป็นแล้วก็รักษาตัวที่บ้าน กินยาตามอาการ มีไข้ก็กินขาลดไข้ ยาแก้ไอ อย่างยาฟลาวิฯ ก็กินเฉพาะคนมีอาการ กลุ่มเสี่ยง อย่างคนไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องไปกิน จะช่วยลดปัญหายาไม่เพียงพอ เพราะต้องกินครั้งละ 9 เม็ดทราบว่าบางคนเอาไปก็ไม่กิน”
เกี่ยวกับคำถามเรื่องสิทธิในการรักษาของผู้ติดเชื้อกรณีปรับเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว คุณหมอย้ำว่าไม่กระทบเพราะหากมีอาการหนักเหนื่อยหอบก็ยังสามารถใช้สิทธิโรคฉุกเฉินในรพ.ทั่วไปได้เช่นกัน ส่วนถ้าเป็นอาการสีเขียวก็ยังมีบริการดูแลเรื่องยาให้ตามระบบในการรักษา HI หรือใช้บริการรพ.ต้นสังกัดได้เช่นกัน ในทางกลับกันได้ช่วยประหยัดงบประมาณและไม่เบียดบังการใช้ทรัพยากรและบุคคลากรทางการแพทย์สำหรับกลุ่มที่ยังมีความจำเป็นสำหรับโรคและอาการอื่นๆ
นอกจากนี้ในเชิงจิตวิทยาก็ช่วยให้ผู้คนปรับทัศนคติ ลดความวิตกกังวลกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังคงอยู่พื้นฐานของความระมัดระวัง ปลอดภัย เพราะการถอดออกจากโรคฉุกเฉินไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกมาตรการทุกอย่างในคราวเดียวกัน
>> ถึงเวลาต้องอยู่ร่วมกันให้ได้
“เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ต้องกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคซาร์สในอดีต” รัชนี ช่วยเชียร เจ้าของเกสต์เฮาส์ Good 9 at Home ที่ราไวย์ จ.ภูเก็ต เห็นด้วยกับการปรับโควิด-19 เข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่น
รัชนี ซึ่งผ่านการติดเชื้อโควิดเมื่อช่วงปีใหม่ มองว่าการคงสถานะเป็นโรคระบาดใหญ่ต่อไป ทำให้มีมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต ขณะที่สถานการณ์หลายๆ อย่างในปัจจุบันได้คลี่คลายลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้จะมีการแพร่ระบาดสูงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาที่มีความคล่องตัวขึ้น หรือการปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่
“เมื่อก่อนตอนมียอดผู้ติดเชื้อสูงๆ คนจะไม่ออกไปไหน หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกัน แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่มองข้ามไปเลย ไม่ใส่ใจตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน แต่สนใจเรื่องปากท้อง อยากทำมาค้าขายมากกว่า ติดก็รักษา ไม่เป็นไร เพราะอาการไม่รุนแรง รักษาอยู่ที่บ้าน การบริการแจกจ่ายยาก็ถือว่ารวดเร็วดีไม่มีปัญหา เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้เพราะผ่านการเรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ทุกคนต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องการมีรายได้เหมือนเดิม ยิ่งเงื่อนไขน้อยลงเท่าไหร่ยิ่งดีต่อนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศ”
เช่นเดียวกัน ธวัชชัย พฤกษ์รังสี ชาวพังงาที่มองถึงเวลาที่ทุกคนควรได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว หลังต้องเจอวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปีและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้กลับไปทำงานตามปกติเพราะร้านยังปิดบริการชั่วคราว
พนักงานร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวเขาหลัก บอกว่าการเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่เพียงปลดล็อกมาตรการโดยรวมต่างๆ เพื่อเรียกบรรยากาศในการ หากแต่ยังคลายความวิตกกังวลของคนทั่วไปให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้เหมือนเดิม สร้างบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ต้องกลัวการติดเชื้อหรือต้องขาดรายได้เพราะต้องกักตัวโดยที่ไม่มีอาการหรือไม่ได้ติดเชื้อแต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วและอาการไม่ได้รุนแรงมาก
สำหรับข้อกังวลเรื่องของระบบสาธารณสุขในการรับมือการแพร่ระบาดและสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องประกันนั้น พวกเขาคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกำหนดนโยบายและกำกับดูแลอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นขอบข่ายความรับผิดชอบของระบบสาธารณสุข แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ หรือเงื่อนไขความคุ้มครองของประกัน เพื่อให้การดำเนินชีวิต สังคม และเศรษฐกิจเดินต่อบนพื้นฐานของความปลอดภัย และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19