“อยากจะบอกกับรัฐว่า ต้องลงมาดูว่าคนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออะไร เขาเรียกร้องเกินไปหรือไม่ ความต้องการของพวกเขาเกินความสามารถของรัฐหรือไม่ จริง ๆ อยาก ได้งบมาช่วย ที่เราสามารถต่อยอดได้ เรามีมือ เรามีแรง เราก็ทำได้ ถ้ามาแบบโครงการคนละครึ่ง แป๊ปเดียวก็หมด เอาเงินมาสนับสนุนเรื่องอาชีพดีกว่า” เสียงสะท้อนของ รัชนี แป๊ะเซ็ง ชาวบ้านชุมชนสระต้นโพธิ์ จ.ภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หลังจากที่เคยถูกขับไล่ออกจากที่ดินและบ้านที่อาศัยอยู่เมื่อ 7 ปีก่อน
รัชนี พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ย้ายมาอยู่ภูเก็ตเพื่อหาโอกาสทางอาชีพเมื่อหลายปีก่อน เธอเคยอาศัยอยู่ริมขุมเหมืองเก่าร้างในอดีต ในซอยป่าหล่าย ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่หรือเรียกกันว่าชุมชนสระต้นโพธิ์ แต่เมื่อปี 2555 มีเอกชนเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเริ่มฟ้องขับไล่ชาวบ้าน รวมถึงครอบครัวของรัชนี ซึ่งเดิมชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นที่ดินของรัฐ จึงปกป้องและช่วยกันต่อสู้เพื่อเอาที่ดินคืนให้รัฐ หลังจากนั้นเริ่มมีคนถูกฟ้องหลายราย บ้างติดคุก จนนำไปสู่การเจรจาหยุดฟ้องและยอมย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว
รัชนีและชาวบ้านได้รวมตัวและเข้าร่วมเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต ทำกิจกรรมทางสังคม โดยมีมูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับพีมูฟ และมูลนิธิแอ็คชั่นเอด ภายใต้โครงการที่ดินคือชีวิต
.
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการถูกขับไล่ ทำลายบ้าน การฟ้องร้อง การต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงสภาพจิตใจของรัชนีและครอบครัว แต่ความช่วยเหลือได้เปลี่ยนชีวิตของรัชนี ให้เป็นฟ้าหลังฝน มีโอกาสได้มีบ้าน ที่อยู่อาศัยอยู่ชั่วคราว และมีชีวิตที่สามารถเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยไม่ต้องหวาดกลัวอีกต่อไป
.
แต่ชีวิตที่ผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายไปไม่นาน กลับต้องมาเจอมรสุมซ้ำสอง จากการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ก่อนหน้านั้น
“ตอนนั้นมีอาชีพเป็นพนักงานในสปาแห่งหนึ่ง ใน จ.ภูเก็ต รายได้ไม่ต่ำกว่า 800-900 บาท ต่อวัน สามารถใช้ชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัวอย่างไม่ลำบากนัก หลังจากเกิดการระบาดของโควิด สปาถูกสั่งปิด ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีแม้แต่เงินจะไปลงทุนทำอย่างอื่น เพราะเพียงจะหาซื้ออาหารการกินเพื่อประทังชีวิตแต่ละวันยังลำบากมาก และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐใด ๆ เนื่องจากตัวเองเป็นหนึ่งในประชากรแฝงที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ทำให้ความช่วยเหลือถูกส่งไปให้กลุ่มผู้ที่มีทะเบียนบ้านในจังหวัดที่นี่ก่อน”รัชนีบอกถึงความยากลำบากของเธอและครอบครัวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
.
“โชคยังดีได้รับความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนอีกครั้ง จากมูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิแอ็คชั่นเอ็ด ทำให้เราและชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนในศูนย์ชุมชนใหม่สระต้นโพธิ์ ต่างได้รับมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำปลา ที่สามารถไปประกอบอาหาร 2 ครั้ง มีการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันปัญหาของแต่ละคน เพื่อหาข้อสรุปในการรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชนสำหรับในปัจจุบันและในอนาคต ทำให้จิตใจเราดีขึ้น มีแรง มีกำลังสู้ต่อไป อย่างน้อยมีคนมองเห็นว่ามีเราอยู่ ไม่ปล่อยเราทิ้งไว้”
.
รัชนีกล่าวว่า ในอนาคต มีแผนที่พวกเราทุกคนในหมู่บ้านจะจับกลุ่ม ทำอะไรสักอย่าง เพื่อเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้อย่างน้อยวันต่อวัน ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว ไม่ได้หวังรวย เราอยู่ใกล้ทะเล อาจจะขายปลาแดดเดียว
.
“ความลำบากที่ผ่านมาสอนให้ต้องสู้ ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ต้องขอบคุณพี่น้องที่อยู่ในเครือข่ายที่คอยสนับสนุนกัน รวมถึงการช่วยเหลือ การให้กำลังใจ และไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ชุมชนสามารถยืนหยัด รับมือกับปัญหา และก้าวผ่านความลำบากได้อีกครั้ง”รัชนี กล่าวทิ้งท้าย
//////////////////////////
2021-01-31